แมวเป็นโรคนิ่วเกิดจากอะไร ควรดูแลแบบไหน ให้อาหารอะไรเหมาะที่สุด
โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะไม่ได้เกิดเพียงเฉพาะแค่มนุษย์เท่านั้น แต่สามารถเกิดได้ในสัตว์เลี้ยงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะน้องแมวเพศผู้ที่จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ่วได้สูงกว่าแมวเพศเมีย ซึ่งถ้าไม่ได้รับการ รักษาและการดูแลอย่างถูกต้อง อาจทำให้แมวต้องทนทรมานต่ออาการฉี่ไม่ออกและอาการข้างเคียงต่าง ๆ จนอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด ดังนั้นถ้าคุณไม่อยากให้แมวสุดที่รักต้องเผชิญกับโรคนี้ ควรดูแลให้ดี เพื่อให้แมวของคุณอยู่สร้างความน่ารักได้ยาวนานมากยิ่งขึ้น
สิ่งที่ควรเข้าใจเกี่ยวกับแมวที่เป็นโรคนิ่ว
โรคนิ่วในแมวจะมีความคล้ายคลึงกับโรคนิ่วของมนุษย์ คือ จะเกิดตรงช่วงทางเดินปัสสาวะ จึงทำให้เกิดอาการอย่างเห็นได้ชัดจากการที่แมวไม่ค่อยฉี่หรืออาจจะไม่ฉี่เลยทั้งวัน เกิดเป็นความรู้สึกทรมานจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ซึ่งนิ่วนั้นจะถูกแบ่งออกตามสภาวะและปัจจัยต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน เช่น ความเข้มข้นของแร่ธาตุ, การเกิดผลึก เกลือจากการตกค้างที่ทางเดินปัสสาวะ, มีระดับของกรดและด่างที่ทำให้การตกผลึกเป็นไปอย่างง่ายดาย, กลไกของร่างกายทำงานผิดปกติ จึงทำให้เกิดการตกผลึกเกลือที่มากขึ้น และมีปัจจัยอีกหลากหลายที่สัตวแพทย์ยังไม่สามารถวินิจฉัยได้อย่างแน่ชัด เพราะอาจจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่เร่งปฏิกิริยาให้เกลือมีความเข้มข้นภายในปัสสาวะสูง จนนำมาสู่การเป็นนิ่วได้ด้วยเช่นกัน
แต่ในปัจจุบันทางสัตวแพทย์ได้มีการแบ่งนิ่วออกตามแร่ธาตุ เพื่อการวินิจฉัยโรคอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยมีถึง 8 ชนิดด้วยกัน คือ
- แมกนีเซียมแอมโมเนียมฟอสเฟต (struvite) หรือ MAP
- แคลเซียมฟอสเฟต (CaPo)
- แคลเซียมออกซาเลต (CaOx)
- Urate
- Silica
- Mixed
- Compound
- Cystine
แร่ธาตุที่มักจะถูกพบภายในปัสสาวะของแมวที่เป็นโรคนิ่ว จะมีเพียงแค่ 2 ชนิด คือ MAP และ CaOx ที่เมื่อเป็นแล้วก็อาจจะมีอัตราของการกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้งได้สูงเลยทีเดียว คุณจึงควรรู้รายละเอียดของนิ่วทั้ง 2 ชนิดนี้ให้มากขึ้น
1.แมกนีเซียมแอมโมเนียมฟอสเฟต
แมกนีเซียมแอมโมเนียมฟอสเฟต (struvite) หรือ MAP เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่ทำให้ทางเดินปัสสาวะเกิดนิ่วที่มีผิวเรียบและมักจะขึ้นมาหลายก้อน แล้วขวางทางเดินของระบบปัสสาวะ โดยจะมีรูปร่างที่คล้ายกับก้อนหินหรือก้อนกรวด สำหรับการรักษาสามารถให้เป็นยาปฏิชีวนะเพื่อการขจัดก้อนนิ่วและช่วยลดโอกาสที่นิ่วจะกลับมาอีกครั้ง
2.แคลเซียมออกซาเลต
แคลเซียมออกซาเลต หรือ CaOx จะพบได้มากในแมวเพศผู้ โดยเฉพาะแมวที่มีอายุช่วงกลางไปจนถึงแมวอายุมาก เกิดจากปัจจัยในเรื่องของร่างกายมีการผลิตเมตาบอลิซึมที่มากผิดปกติและอาหารที่กินมีแคลเซียมสูงมากจนเกินไป ซึ่งอาหารที่แมวเป็นโรคนิ่วประเภทแคลเซียมออกซาเลตต้องหลีกเลี่ยง คือ นม, งาดำ, กุ้งแห้ง, เต้าหู้, ถั่วเหลือง, บล็อกโคลี่, แอปเปิ้ล, ส้ม และกล้วย เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถพบได้จากการเป็นโรคแทรกซ้อนของโรคมะเร็งบางประเภท โดยลักษณะของก้อนนิ่วจะมีผิวที่ขรุขระและมีความหนาจนทึบ ซึ่งความน่ากลัวของนิ่วชนิดนี้ คือ จะไม่สามารถสลายออกได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องป้องกันในเรื่องของอาหารที่มีความเหมาะสมและการดูแลอย่างใกล้ชิดเท่านั้น แต่ถ้าอาการรุนแรงอาจจะต้องมีการผ่าตัดเพื่อนำนิ่วออกทันที
แมวเป็นโรคนิ่วเกิดจากอะไร?
แมวถือว่าเป็นสัตว์ที่รักความเป็นส่วนตัวสูง ดังนั้นปัจจัยเพียงแค่เล็กน้อยก็อาจพาให้เกิดเป็นโรคนิ่วในแมวได้ เช่น
- ความเป็นกรด-ด่างภายในปัสสาวะที่มีมากเกินไป
- การดื่มน้ำระหว่างวันน้อยมากเกินไปหรือมีนิสัยไม่ชอบดื่มน้ำ
- การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่ระบบปัสสาวะ
- การเกิดโรคบางประเภทอย่างไทรอยด์หรือโรคมะเร็ง ที่ทำให้เกิดโรคนิ่วแทรกซ้อนได้
- ความเครียดจากสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย
- ความเครียดจากการมีสมาชิกใหม่เข้ามาภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นแมวด้วยกันหรือคนแปลกหน้าก็ตาม
- กระบะทรายมีไม่เพียงพอหรือไม่สะอาด จึงทำให้แมวยอมอั้นไว้มากกว่าที่จะยอมเข้ากับกระบะทราย
- การกินอาหารเม็ดที่มีความเข้มข้นของสารอาหารบางประเภทสูงเกินไป
- แมวที่มีน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ปกติ
- แมวอายุมากที่ไม่ค่อยชอบขยับตัว
แม้ว่าแมวภายในบ้านจะมีโอกาสเป็นโรคนิ่วทางเดินปัสสาวะสูงกว่าแมวที่เลี้ยงแบบอิสระหรือแมวที่อยู่นอกบ้าน เพราะแมวภายในบ้านจะไม่ค่อยเคลื่อนไหวตัวเองก็ตาม แต่ใช่ว่าการเลี้ยงแบบปล่อยนอกบ้านจะเป็นคำตอบที่ถูกต้อง เพราะเสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ่วจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงควรหากิจกรรมต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้แมวได้ออกกำลังกายอยู่เสมอแทนได้เช่นกัน
อาการของโรคนิ่วในแมว
อาการโรคนิ่วในแมวจะแสดงผลออกมาให้เห็นชัดเจนในหลากหลายพฤติกรรม ดังนั้นเพียงแค่เจ้าของสังเกตอาการและอารมณ์ของแมวที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเรื่องการขับถ่ายหรือการทำพฤติกรรมที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิมก็จะรู้ได้ทันที แต่ถ้าพบอาการเหล่านี้คุณไม่ควรนิ่งนอนใจและควรพาพบแพทย์ทันที คือ
- มีความพยายามเบ่งปัสสาวะทุกครั้งที่เข้ากระบะทราย
- ปัสสาวะออกมาน้อยมากและอาจมีเลือดปน
- มีอาการไม่สบายตัวและหงุดหงิดง่ายมากขึ้นเรื่อย ๆ
- ปัสสาวะออกมาเพียงแค่เป็นหยดน้ำ
- มีอาการซึมและเบื่ออาหารอย่างเห็นได้ชัด
- มีอาการอาเจียนบ่อยครั้ง
- มีอาการกระวนกระวายหรือก้าวร้าวผิดปกติ ซึ่งเป็นการแสดงออกให้เห็นถึงความเครียดที่สูงขึ้น
แมวเป็นโรคนิ่ว ควรดูแลอย่างไร
ถ้าคุณพาน้องแมวไปตรวจกับสัตวแพทย์และพบว่าเป็นโรคนิ่ว คุณควรทำตามขั้นตอนของการดูแลดังนี้
- ถ้าเป็นการรักษาทางการให้ยา ควรให้ยาตามเวลาที่สัตวแพทย์สั่งครบทุกมื้อ
- ถ้าเป็นการรักษาด้วยการผ่าตัด คุณต้องล้างแผลให้ดีและระมัดระวังแผลติดเชื้อ
- ทำความสะอาดพื้นที่อยู่อาศัยของแมว ที่นอน และกระบะทรายให้เรียบร้อยทุกวัน
- แยกแมวที่ป่วยออกจากแมวตัวอื่น เพื่อลดความตึงเครียดและแมวจะกล้าเข้ากระบะทรายมากขึ้น
- ให้อาหารสูตรเฉพาะสำหรับรักษาโรคนิ่วในแมว
- ถ้าเป็นการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ควรงดให้แมวออกกำลัง
- การผ่าตัดจะมีการใส่ท่อสวนปัสสาวะแบบชั่วคราว ดังนั้นเจ้าของจึงต้องระมัดระวังไม่ให้ท่อฉี่เสียหายและต้องทำความสะอาดอยู่เสมอ
- จัดอาหารและน้ำดื่มให้มีความสะอาดเสมอ
- ปรับเปลี่ยนจากอาหารเม็ดสู่อาหารเปียกสูตรเฉพาะที่มีค่า pH พอเหมาะ
- ถ้าเป็นนิ่วแบบ Silicate Stone ต้องเลือกเป็นอาหารสูตรเฉพาะ ที่ไม่มีส่วนผสมของสาร Silicate
- อาหารสำหรับแมวเป็นโรคนิ่วทุกประเภท ควรเลือกเป็นสูตรเฉพาะที่ค่า pH ในปัสสาวะไม่สูงเกินกว่า 7.5 เปอร์เซ็นต์
อาหารที่เหมาะสำหรับแมวที่เป็นโรคนิ่ว เป็นอาหารแบบไหน ให้อาหารอะไรได้บ้าง
สำหรับแมวเป็นโรคนิ่วจำเป็นอย่างมากที่จะต้องได้รับอาหารอย่างถูกต้อง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วยังคงสามารถรับประทานอาหารเม็ดได้ตามปกติ แต่จะต้องเป็นสูตรเฉพาะและมีความนิ่ม ย่อยง่าย ดังนั้นอาหารที่จะเหมาะสำหรับแมวเป็นโรคนิ่วจะมีดังต่อไปนี้
1.อาหารสูตรสลายนิ่ว
อาหารแมวสูตรสลายนิ่วจะมีขายหลากหลายประเภทด้วยกัน ดังนั้นคุณจึงควรต้องรู้ก่อนว่าแมวของคุณเป็นนิ่วประเภทใด เพื่อซื้อสูตรอาหารที่เหมาะสม โดยจะมีทั้งอาหารเปียกและอาหารเม็ด ซึ่งจะเป็นสูตรเฉพาะที่ช่วยปรับให้ฉี่ของแมวมีค่า pH ที่เหมาะสมหรือมีความเป็นกรด-ด่างที่น้อยลงกว่าเดิม จึงช่วยทำให้ผลึกของนิ่วละลายได้ง่ายมากขึ้น พร้อมไปด้วยการใส่สารอาหารเสริมเพื่อฟื้นฟูอวัยวะภายในของแมวให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
2.อาหารสูตรฟื้นบำรุง
อาหารสูตรฟื้นฟูทางเดินปัสสาวะของแมวและช่วยเสริมให้อวัยวะส่วนอื่นกลับมาทำงานได้อย่างแข็งแรง จะมีทั้งแบบสูตรอาหารเม็ดและอาหารเปียกเช่นเดียวกัน โดยสูตรนี้แมวที่เป็นโรคนิ่วทุกประเภทสามารถรับประทานได้ เพราะจะถูกควบคุมให้มีค่า pH ภายในฉี่ของแมวเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น พร้อมการควบคุมปริมาณของแคลเซียม, แมกนีเซียม และฟอสฟอรัส รวมไปถึงโปรตีนให้มีความเหมาะสมต่อแมวที่เป็นโรคนิ่ว เพื่อทำให้ก้อนนิ่วที่ถูกสลายจะไม่กลับมาใหม่อีกครั้ง
3.อาหารสูตรป้องกันนิ่วเกิดใหม่
อาหารแมวประเภทป้องกันการเกิดนิ่วซ้ำภายในทางเดินปัสสาวะของแมว จะเป็นอาหารแบบรักษาควบคู่ไปกับอาหารสลายนิ่ว ซึ่งอาหารประเภทนี้จะถูกจำกัดทั้งแคลเซียมและสารอาหารอื่นที่อาจจะก่อให้เกิดการตกผลึกของนิ่วอีกครั้ง จึงควรรับประทานอย่างต่อเนื่องไปจนกว่าการรักษาจะเสร็จสิ้น จะช่วยกำจัดและไม่ทำให้สารใดตกค้างอยู่บนทางเดินปัสสาวะ จึงไม่ทำให้นิ่วกลับมากวนใจอีกครั้งอย่างแน่นอน
อาหารเปียกสูตรเฉพาะสำหรับแมวเป็นโรคนิ่วจะได้รับความนิยมสูง สัตวแพทย์จะแนะนำสูตรอาการเปียกเป็นส่วนใหญ่ เพราะนอกจากจะให้การรับประทานที่ง่ายมากกว่าอาหารเม็ดแล้ว ยังมีสัดส่วนของน้ำที่สูงกว่าอาหารเม็ด จึงช่วยกระตุ้นให้แมวขับถ่ายของเสียผ่านปีสสาวะได้บ่อยมากขึ้น ทั้งยังย่อยสลายและซึมซาบเข้าสู่อวัยวะภายในได้ง่ายอีกด้วย
สิ่งที่ควรป้องกัน เพื่อไม่ให้แมวเป็นโรคนิ่ว
ถ้าคุณไม่อยากให้น้องแมวแสนรักของคุณต้องเผชิญกับโรคนิ่วที่อาจจะต้องถึงขั้นผ่าตัด คุณควรดูแลน้องแมวให้ดีด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- การให้อาหารในแต่ละวันควรแบ่งออกเป็นมื้อย่อย หลายมื้อ และให้ครั้งละพอเหมาะเท่านั้น
- ทำความสะอาดจุดให้น้ำดื่มและที่อยู่อาศัยของแมวบ่อยครั้ง
- ตั้งจุดน้ำดื่มไว้หลายแห่ง เพื่อกระตุ้นให้แมวรู้สึกอยากกินน้ำมากขึ้น
- ถ้าแมวไม่ยอมกินน้ำด้วยตัวเอง ให้ดูดใส่ไซริงค์แล้วป้อนตลอดทั้งวัน เพื่อเป็นการสร้างนิสัยให้แมวเคยชินต่อการกินน้ำมากขึ้น
- ถ้าเลี้ยงแมวหลายตัวควรเพิ่มกระบะทรายให้มากขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งาน
- นำกระบะทรายไปตั้งอยู่ในจุดที่ลับสายตาคน เป็นมุมสงบที่จะทำให้น้องแมวกล้าเข้ากระบะทรายมากขึ้น
- เมื่อมีการขับถ่ายแล้ว ควรทำความสะอาดและเปลี่ยนทรายบ่อยครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย
- การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ตามรอบตัวแมว ควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อป้องกันความเครียดพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว
- ถ้าแมวไม่ถูกกันควรแยกออกให้อยู่กันคนละที่ เพื่อไม่ให้เกิดความเครียด
- เลือกอาหารที่มีปริมาณสารอาหารอย่างเหมาะสม
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียม แคลเซียม และสารอาหารอื่น ๆ ที่มากจนเกินไป
แม้ว่าโรคนิ่วจะเป็นอีกหนึ่งโรคน่ากลัวของน้องแมว แต่ถ้าคุณดูแลและป้องกันให้ดี พร้อมใส่ใจต่อการกินอาหาร การอยู่อาศัย และการทำความสะอาด ย่อมทำให้แมวของคุณมีอายุยืนยาวมากขึ้นอย่างแน่นอน แต่ถ้าน้องแมวของคุณเป็นโรคนิ่วแล้ว ก็ควรดูแลรักษาให้ดีเพื่อยืดอายุให้น้องแมวอยู่อย่างสนุกและมีความสุขไปกับคุณได้ยาวนานกว่าเดิม